Pages:
Actions
  • #1 by postok on 07 Sep 2012
  • บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของคนชนบทมักอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน คนชนบทที่มีอาชีพทางการเพาะปลูกมัก จะตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลอง หรือใกล้กับแหล่งน้ำสาธารณะจำพวกหนอง บึง เพื่อสะดวกในการมีน้ำไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนใช้ในการเพาะปลูกหรือใช้เป็นทางคมนาคมติดต่อกัน ลักษณะหมู่บ้านของชนบทไทย โดยทั่ว ๆ ไปมีหลายแบบ แบบที่เห็นกันอยู่มากคือการตั้งบ้านเรียงรายเป็นหมู่บ้านริมคลองหรือริมถนน จะเห็นได้มากในชนบทภาคกลาง อีกแบบหนึ่งก็คือ ครัวเรือนตั้งอยู่ใกล้กันในละแวกเดียวกันเป็นกลุ่ม ๆ และล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาหรือไร่ หมู่บ้านนี้มีอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
             
    ผู้ที่อยู่ในบ้านในชนบท  นอกจากจะประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก ๆ  แล้ว บางครอบครัวจะมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ด้วย ลูก ๆ ที่แต่งงานไปแล้วมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเรือนของพ่อแม่  ดังนั้น ผู้คนในละแวกบ้านเดียวกันจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ชีวิตในชนบทจึงเป็นชีวิตที่อบอุ่นด้วยญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกัน ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ทุก ๆ หมู่บ้านมักมีวัดหรือสถานที่ทางศาสนาเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และมีบทบาทต่อชีวิตในชนบทส่วนใหญ่อย่างมากจนทุกวันนี้
             
    ครอบครัวชนบทดังที่กล่าวแล้วว่าส่วนใหญ่จะมีอาชีพทางการเกษตร ลักษณะครอบครัวจะเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในครอบครัวหลายคน คนชนบทในอดีตนิยมมีลูกหลายคนเพื่อจะได้มีลูก ๆ ไว้ช่วยทำนา ทำไร่ เพราะทำคนเดียวหรือสองคนไม่ไหวเด็กๆ จะเติบโตอยู่กับพ่อแม่และไปโรงเรียนที่มีอยู่ในชนบทนั้น ๆ ส่วนใหญ่เด็กชนบทจะเรียนจบชั้นประถม ๖ ซึ่งเป็นชั้นระดับที่เด็กทุกคนต้องเรียนจบระดับนี้ตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อที่เด็ก ๆ ทุกคนจะได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือได้  และยังมีความรู้อื่นๆ ด้วย เช่น ความรู้เรื่องสุขศึกษา รวมทั้งความรู้ที่จะช่วยตัวเองและเพื่อนบ้านในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนั้น ๆ
             
    เมื่อเด็ก ๆ จบชั้นประถมศึกษาภาคบังคับแล้ว บางส่วนก็จะมาเรียนต่อในอำเภอหรือเมือง ในชั้นที่สูงขึ้นต่อไป เด็กบางส่วนก็จะอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงน้องหรือช่วยงานเกษตรภายในครอบครัว เมื่อถึงวัยรุ่น หนุ่มสาวบางส่วนก็จะพากันออกไปทำงานนอกเขตที่ตนอยู่ อาจไปทำงานในเมืองใกล้ ๆ หรือไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรในเมืองหลวง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม  หรือก่อสร้าง เป็นต้น เด็กหนุ่มสาวบางส่วนที่มิได้ย้ายไปทำงานที่อื่น ก็จะช่วยพ่อแม่ทำกิจการอาชีพของพ่อแม่ต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปผู้ที่อยู่กับพ่อแม่ก็จะรับช่วงที่ดินที่พ่อแม่ทำอยู่มาทำต่อ  ส่วนเด็ก ๆ ที่ได้เข้าไปเรียนต่อในเมือง หรือจังหวัด หรือเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ นั้น ก็อาจจะเรียนจนจบการศึกษาชั้นสูง และส่วนใหญ่จะหางานทำในกรุงเทพฯ เลย ไม่ได้กลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมของตนจึงไม่มีโอกาสที่จะนำความรู้ความสามารถกลับไปช่วยทำนุบำรุงและปรับปรุงชนบทเดิมที่ตนเคยอยู่มา อย่างไรก็ตาม คนชนบทบางส่วนแม้จะมีจำนวนน้อยที่เมื่อเรียนจบแล้วได้กลับไปสู่ชนบทบ้านเดิม แต่คนชนบทเหล่านี้ก็สามารถช่วยพัฒนาชนบทได้อย่างมาก ซึ่งเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง คนเหล่านี้เป็นคนที่สังคมยกย่อง
Pages:
Actions