Pages:
Actions
  • #1 by postok on 05 Sep 2012
  • สำหรับเรือนไทย เราจะเห็นตัวอย่างบ้านไม้ทรงไทยมาตรฐานยกพื้น แบบบ้านที่คนไทยนิยมที่สุดตลอดกาลไม่ว่ายุคไหน ฝาของเรือนไทยหรือบ้านทรงไทยเดิม จะมีฝาประเภทต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความนิยม ได้แก่ ฝาประกน ฝาสายบัว ฝาสำหรวด ฝาไหล และฝาเกล็ด เป็นต้น เรือนไทยภาคกลาง จะนิยมใช้ฝากระดาน ที่เรียกว่า "ฝาประกน" หรือ "ฝาสายบัว" ฝาผนังทั้งสองชนิดเป็นฝาเรือนไทยที่เราเห็นกันค่อนข้างมากและลวดลายของการประดับเข้าไม้ที่แตกต่างกัน ส่วนเรือนไทยภาคอื่น เช่น ภาคเหนือภาคอีสานและภาคใต้ นิยมใช้ฝาเรือนแบบ "ฝาเกล็ด" ฝาแต่ละแบบ มีรายละเอียดดังนี้

    “ฝาประกน” เป็นฝาเรือนที่มีลักษณะเป็นแผงรูปสี่เหลี่ยม ทำด้วยไม้จริง โดยใช้กระดานแผ่นเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากรุในแนวตั้งอยู่ในช่องระหว่างโครงฝาซึ่งประกอบด้วยตัวไม้ลูกตั้ง ตั้งเป็นแถวและตัวไม้ลูกปะกนหรือลูกนอนวางขวางอยู่ในช่องระหว่างไม้ลูกตั้งแต่ละตัวอย่างสับหว่างกันกันมีตัวไม้แม่ฝา 4 ตัว เป็นกรอบล้อมทั้ง 4 ด้าน ฝาปะกนเป็นที่นิยม โดยเฉพาะทำเป็นฝาเรือนเครื่องสับ หรือเรือนฝากระดาน

    ถ้าอธิบายอีกนัยหนึ่ง ฝาประกน จะมีไม้ยืนตามตั้งคล้ายกับเคร่าฝา มีไม้วางตามขวางสลับกันคล้ายกับ การก่ออิฐ และมีแผ่นไม้ปิดตรงช่องว่างของไม้ยืนและไม้นอนเรียกว่า “ลูกฟัก” ซึ่งลูก ฟักนี้บางครั้งจะประดับประดาสลักเสลาให้งดงาม ฝาประกน ที่มีแผ่นลูกฟักคล้ายๆกับลูกฟักของประตูทั่วไปนี้ เราจะเรียกว่าเป็น "ฝาเฟี้ยม" หรือ "ฝาเฟี้ยมลูกฟัก"

    “ฝาสายบัว” ฝาเรือนเครื่องสับหรือเรือนฝากระดาน มีลักษณะคล้ายกับฝาประกน แต่มีที่ต่างกันคือ มีแต่ตัวไม้ลูกตั้ง ไม่มีตัวไม้ลูกนอนหรือลูกปะกนขวางอยู่ระหว่างช่องว่างลูกตั้งแต่ละตัว ส่วนแผ่นกระดานกรุฝาเป็นแผ่นแบนยาวขนาดกว้างกว่าลูกตั้งเล็กน้อย แต่ความสูงขนาดเดียวกับลูกตั้ง ฝาแบบนี้เมื่อเข้าไม้เป็นฝาทั้งแผงแล้ว จะเห็นทั้งไม้ฝาและไม้ลูกตั้งเรียงสลับกันเป็นสายๆ ในพื้นฝา จึงเรียกกันว่า ฝาสายบัว อาจอธิบายได้อีกว่า “ฝาสายบัว” นั้นจะเป็นไม้ฝาตี ตามตั้งทั้งหมด เป็นไม้แผ่นใหญ่วางเรียงกัน และมีไม้แผ่นเล็กตีปิดตรงรอยต่อของไม้ แผ่นใหญ่ มองแล้วคล้ายก้านของดอกบัว
Pages:
Actions