Pages:
Actions
  • #1 by goldza on 17 Aug 2012
  • แบบบ้านทรงไทยว่าสวยงามแล้ว ชมแบบบ้านทรงไทยอีสานกันหน่อยเป็นอย่างไร การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่สำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักข้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน หนอง" เป็นส่วนใหญ่ ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า

    หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น

    คำว่า “บ้าน “ กับ “เฮือน” (ความหมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของ ชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ เฮือน” นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ

    นอกจากคำว่า “เฮือน “ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ

    คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

    ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข

    บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน

    นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน

    อย่างไรก็ตามการจัดวางแผงผังของห้องและองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรือนไทยอีสานมีดังนี้

    1. เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก (ตามตะวัน) ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า “ เรือนสามห้อง” ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ

    1.1 ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชายมักไม่กั้นห้องด้านหัวนอนมีหิ้งประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา เช่น เครื่องราง ของขลัง เป็นต้น

    1.2 ห้องพ่อ-แม่อาจกั้นเป็นห้องหรือบางทีก็ปล่อยโล่ง

    1.3 ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิดหากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ซึ่ง ชาวอีสานเรียกว่า” ห้องส่วม”

    ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีกกล่าวคือ กั้นเป็นคอกวัวควาย ตั้งแคร่นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และทำหัตถกรรมจักรสานถักทอของสมาชิกในครอบครัวเก็บอุปกรณ์การทำนาทำไร่ เช่น จอบ เสียม คราด ตลอดจนเกวียน เป็นต้น

    2. เกย (ชานโล่งมีหลังคาคลุม) เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก ที่รับประทานอาหาร และใช้เป็นที่หลับนอนของลูกชายและแขกเหรื่อที่กลับมาจากงานบุญในตอนค่ำคืนส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เป็นที่เก็บฟืนหรือสิ่งของที่ไม่ใหญ่โตนัก

    3. เรือนแฝด เป็นเรือนตรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอน ในกรณีที่พื้นทั้งสองหลังเสมอกันโครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมามากกว่าเรือนนอนก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก

    4. เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แตกต่างจากเรือนแฝดตรงที่ โครงสร้างของเรือนโข่ง จะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน

    การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัว ชั่วคราวได้

    5. เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสามีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด

    6. ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี “ฮ้างแอ่งน้ำ” (ร้านหม้อน้ำ) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี “ชานมน” ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ เพื่อใช้เป็นที่ล้างภาชนะตั้งโอ่งน้ำและวางกระบะปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ

    รูปแบบของเรือนไทยอีสาน

    รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย เพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้

    1. ประเภทชั่วคราว หรือใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ “เถียงนา” หรือ”เถียงไร่” ส่วนใหญ่จะ ยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับ ในกรณีที่ไร่นาอยู่ไม่ไกลจากเรือนพักสามารถไปกลับได้ภายในวันเดียวจะไม่นิยมกั้นฝา หากต้องค้างคืนก็มักกั้นฝาด้วย “แถบตอง” คือสานไม้ไผ่เป็นตารางขนาบใบต้นเหียงหรือ ใบต้นพวง ซึ่งจะทนทายอยู่ราว 1-2 ปี

    2. ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนักชาวอีสานเรียกว่า ”เรือนเหย้า” หรือ “เฮือนย้าว” เป็นการเริ่มต้นชีวิตการครองเรือน และค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบไป สู่การมีเรือนถาวรในที่สุด

    ผู้ที่จะมี” เรือนเหย้า” นี้จะเป็นเขยของบ้านที่เริ่มแยกตัวออกไปจากเรือนใหญ่( เรือนพ่อแม่)

    เพราะในแง่ความเชื่อของชาวอีสาน เรือนหลังเดียวไม่ควรให้ครอบครัวของพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ่านหลังหนึ่ง ๆ ควรมีเขยเดียวเท่านั้นหากมีเขยมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันถือว่าจะเกิด “ ขะลำ” หรือสิ่งอัปมงคล

    เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ “ เรือนเครื่องผูก” หรือเป็นแบบผสมของ “เรือนเครื่องสับ” ก็ได้

    เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

    2.1 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด”ตูบต่อเล้า” เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือนมีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไปด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็น ตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง ตรงส่วนที่เป็น “ตูบต่อเล้า” นี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นของพ่อแม่ต่อไป

    2.2 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งต่อดิน” เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกัน “ตูบต่อเล้า” แต่จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อยกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตร นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า “ดั้งต่อดิน” เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสาน ที่หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่

    วิธีสร้าง “ดั้งต่อดิน” มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามักมุงด้วยหลังคาทีกรองเป็นตับแล้วเรียกว่า “ไฟหญ้า” หรือใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่

    ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตองโดยใช้ใบกุงหรือใบชาดามาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายขัดหรือลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง โดยใช่ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกันแผ่นกระดารขยับเลื่อน

    2.3 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งตั้งคาน” ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูกมีความแตกต่างจากเรือน”ดั้งต่อดิน” ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไป ถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท “ดั้งต่อดิน”

    3. ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “เรือนเครื่องสับ” สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้างประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิดดังนี้

    3.1 ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วเสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)

    3.2 ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ

    3.3 ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประพกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ

    -ข้อมูลพื้นฐาน-

    ประกอบด้วย   ๑ ห้องนอน , ๑ ห้องรับแขก, ๑ ห้องน้ำและส่วนรับแขก, ชานบนกับชานนอก
    พื้นที่ปลูกสร้าง   เนื้อที่ปลูกสร้างไม่ต่ำกว่า ๑๔ ตารางวา (ความกว้าง ๗.๐๐เมตร × ความยาว ๘.๐๐ เมตร)
    พื้นที่ใช้สอยประมาณ   ๕๗ ตารางเมตร หรือ ๑๔.๒๕ ตารางวา
    ราคาก่อสร้างโดยประมาณ
    (ไม่รวมฐานรากและเสาเข็ม)   ๓๙๙,๐๐๐ – ๕๑๓,๐๐๐ บาท
Pages:
Actions